วันศุกร์ที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

วันวิสาขะบูชา

วันวิสาขบูชา



วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า 3 ประการ คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และปรินิพพาน
ความหมาย คำว่า "วิสาขบูชา" หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 วิสาขบูชา ย่อมาจาก " วิสา - ขบุรณมีบูชา " แปลว่า " การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ " ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7

ความสำคัญ วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่พระพุทธเจ้าประสูติ คือเกิด ได้ตรัสรู้ คือสำเร็จ ได้ปรินิพพาน คือ ดับ เกิดขึ้นตรงกันทั้ง 3 คราวคือ
1. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ที่พระราชอุทยานลุมพินีวัน ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ เมื่อเช้าวันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี










2. เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้าเมื่อพระชนมายุ 35 พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม ในตอนเช้ามืดวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ก่อนพุทธศักราช 45 ปี หลังจากออกผนวชได้ 6 ปี ปัจจุบันสถานที่ตรัสรู้แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เป็นตำบลหนึ่งของเมืองคยา แห่งรัฐพิหารของอินเดีย









3. หลังจากตรัสรู้แล้ว ได้ประกาศพระศาสนา และโปรดเวไนยสัตว์ 45 ปี พระชนมายุได้ 80 พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา แคว้นมัลละ (ปัจจุบันอยู่ในเมือง กุสีนคระ) แคว้นอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย











นับว่าเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง ที่เหตุการณ์ทั้ง 3 เกี่ยวกับวิถีชีวิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งมีช่วงระยะเวลาห่างกันนับเวลาหลายสิบปี บังเอิญเกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน 6 ดังนั้นเมื่อถึงวันสำคัญ เช่นนี้ ชาวพุทธทั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิตได้พร้อมใจกันประกอบพิธีบูชาพระพุทธองค์เป็นการพิเศษ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณ พระปัญญาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ของพระองค์ท่าน ผู้เป็นดวงประทีปของโลก






ประวัติความเป็นมาของ วันวิสาขบูชา ในประเทศไทย

ปรากฎหลักฐานว่า วันวิสาขบูชา เริ่มต้นครั้งแรกในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี สันนิษฐานว่าได้รับแบบแผนมาจากลังกา นั่นคือ เมื่อประมาณ พ.ศ.420 พระเจ้าภาติกุราช กษัตริย์แห่งกรุงลังกา ได้ประกอบพิธีวิสาขบูชาขึ้น เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา จากนั้นกษัตริย์ลังกา พระองค์อื่นๆ ก็ปฏิบัติประเพณีวิสาขบูชานี้สืบทอดต่อกันมา ส่วนการเผยแผ่เข้ามาในประเทศไทยนั้น น่าจะเป็นเพราะประเทศไทยในสมัยกรุงสุโขทัยมีความสัมพันธ์ด้านพระพุทธศาสนากับประเทศลังกาอย่างใกล้ชิด เห็นได้จากมีพระสงฆ์จากลังกาหลายรูปเดินทางเข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนา และนำการประกอบพิธีวิสาขบูชาเข้ามาปฏิบัติในประเทศไทยด้วย สำหรับการปฏิบัติพิธีวิสาขบูชาในสมัยสุโขทัยนั้น ได้มีการบันทึกไว้ในหนังสือนางนพมาศ สรุปได้ว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชา พระเจ้าแผ่นดิน ข้าราชบริพาร ทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายใน ตลอดทั้งประชาชนชาวสุโขทัย จะช่วยกันประดับตกแต่งพระนคร ด้วยดอกไม้ พร้อมกับจุดประทีปโคมไฟให้ดูสว่างไสวไปทั่วพระนคร เป็นเวลา 3 วัน 3 คืน เพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย ขณะที่พระมหากษัตริย์ และบรมวงศานุวงศ์ ก็ทรงศีล และทรงบำเพ็ญพระราชกุศลต่างๆ ครั้นตกเวลาเย็นก็เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ และนางสนองพระโอษฐ์ตลอดจนข้าราชการทั้งฝ่ายหน้า และฝ่ายในไปยังพระอารามหลวง เพื่อทรงเวียนเทียนรอบพระประธาน ส่วนชาวสุโขทัยจะรักษาศีล ฟังธรรม ถวายสลากภัต สังฆทาน อาหารบิณฑบาตแด่พระภิกษุสามเณร บริจาคทานแก่คนยากจน ทำบุญไถ่ชีวิตสัตว์ ฯลฯ


วันวิสาขบูชา เป็นวันสำคัญสากลของสหประชาชาติ

วันวิสาขบูชา ถือเป็นวันสำคัญที่สุดทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากล้วนมีเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา คือ เป็นวันที่พระศาสดา คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ดังนั้นพุทธศาสนิกชนทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับวันวิสาขบูชานี้ และในวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ.2542 องค์การสหประชาชาติได้ยอมรับญัตติที่ประชุม กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลก โดยเรียกว่า Vesak Day ตามคำเรียกของชาวศรีลังกา ผู้ที่ยื่นเรื่องให้สหประชาชาติพิจารณา และได้กำหนดวันวิสาขบูชานี้ถือเป็นวันหยุดวันหนึ่งของสหประชาชาติอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสบำเพ็ญบุญเนื่องในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระบรมศาสดา โดยการที่สหประชาชาติได้กำหนดให้วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญของโลกนั้น ได้ให้เหตุผลไว้ว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นมหาบุรุษผู้ให้ความเมตตาต่อหมู่มวลมนุษย์ เปิดโอกาสให้ทุกศาสนาสามารถเข้ามาศึกษาพุทธศาสนา เพื่อพิสูจน์หาข้อเท็จจริงได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ และทรงสั่งสอนทุกคนโดยใช้ปัญญาธิคุณ โดยไม่คิดค่าตอบแทน

การประกอบพิธีใน วันวิสาขบูชา

การประกอบพิธีใน วันวิสาขบูชา จะแบ่งออกเป็น 3 พิธี ได้แก่
1. พิธีหลวง คือ พระราชพิธีสำหรับพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ประกอบในวันวิสาขบูชา 2. พิธีราษฎร์ คือ พิธีของประชาชนทั่วไป 3. พิธีของพระสงฆ์ คือ พิธีที่พระสงฆ์ประกอบศาสนกิจ

กิจกรรมใน วันวิสาขบูชา

กิจกรรมที่พุทธศาสนิกชนพึงปฏิบัติใน วันวิสาขบูชา ได้แก่
1. ทำบุญใส่บาตร กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้ญาติที่ล่วงลับ และเจ้ากรรมนายเวร
2. จัดสำรับคาวหวานไปทำบุญถวายภัตตาหารที่วัด และปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
3. ปล่อยนกปล่อยปลา เพื่อสร้างบุญสร้างกุศล
4. ร่วมเวียนเทียนรอบอุโบสถที่วัดในตอนค่ำ เพื่อรำลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
5. ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับวันสำคัญทางพุทธศาสนา
6. จัดแสดงนิทรรศการ ประวัติ หรือเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับวันวิสาขบูชาตามโรงเรียน หรือสถานที่ราชการต่างๆ เพื่อให้ความรู้ และเป็นการร่วมรำลึกถึงความสำคัญของวันวิสาขบูชา 7. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือน วัดและสถานที่ราชการ
8. บำเพ็ญสาธารณประโยชน์

หลักธรรมที่สำคัญใน วันวิสาขบูชา ที่ควรนำมาปฏิบัติ
ในวันวิสาขบูชา พุทธศาสนิกชนทั้งหลายควรยึดมั่นในหลักธรรมซึ่งหลักธรรมที่ควรนำมาปฏิบัติในวันวิสาขบูชา ได้แก่

1. ความกตัญญู
คือ การรู้คุณคน เป็นคุณธรรมที่คู่กับความกตเวที ซึ่งหมายถึงการตอบแทนคุณที่มีผู้ทำไว้ ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ เป็นเครื่องหมายของคนดี ทำให้ครอบครัวและสังคมมีความสุข ซึ่งความกตัญญูกตเวทีนั้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้ง บิดามารดาและลูก ครูอาจารย์กับศิษย์ นายจ้างกับลูกจ้าง ฯลฯ
2. อริยสัจ 4
คือ ความจริงอันประเสริฐ 4 ประการที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใน วันวิสาขบูชา ได้แก่
ทุกข์ คือ ปัญหาของชีวิต สภาวะที่ทนได้ยาก ซึ่งทุกข์ขั้นพื้นฐาน คือ การเกิด การแก่ และการตาย ล้วนเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญ ส่วนทุกข์จร คือ ทุกข์ที่เกิดขึ้นในการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น การพลัดพลาดจากสิ่งที่เป็นที่รัก หรือ ความยากจน เป็นต้น
สมุทัย คือ ต้นเหตุของปัญหา หรือสาเหตุของการเกิดทุกข์ และสาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาเกิดจาก "ตัณหา" อันได้แก่ ความอยากได้ต่างๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
นิโรธ คือ ความดับทุกข์ เป็นสภาพที่ความทุกข์หมดไป เพราะสามารถดับกิเลส ตัณหา อุปาทานออกไปได้
มรรค คือ หนทางที่นำไปสู่การดับทุกข์ เป็นการปฎิบัติเพื่อแก้ปัญหา มี 8 ประการ ได้แก่ ความเห็นชอบ ดำริชอบ วาจาชอบ กระทำชอบ เลี้ยงชีพชอบ พยายามชอบ ระลึกชอบ ตั้งจิตมั่นชอบ

3. ความไม่ประมาท
คือการมีสติตลอดเวลา ไม่ว่าจะทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ล้วนต้องใช้สติ เพราะสติคือการระลึกได้ การระลึกได้อยู่เสมอจะทำให้เราใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ซึ่งความประมาทนั้นจะทำให้เกิดปัญหายุ่งยากตามมา ดังนั้นในวันนี้พุทธศาสนิกชนจะพากันน้อมระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยความมีสติ




แบบทดสอบหลังเรียน






จัดทำโดย น.ส.ชุตินันท์ เพชรขุ้ม เลขที่28 ม.4/3









ที่มา http://hilight.kapook.com/view/23220

วันพุธที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประวัติการปกครองสมัยอยุธยา

การปกครองสมัยอยุธยา












การปกครองสมัยอยุธยาตอนต้น

1. การปกครองส่วนกลาง
พระมหากษัตริย์ ปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง คือจตุสดมภ์ แบ่งเป็น
1. กรมเวียง - มี ขุนเวียง เป็นผู้ดูแล มีหน้าที่ รักษาความสงบสุขของราษฏร
2. กรมวัง - มี ขุนวัง เป็นผู้ดูแล เป็นหัวหน้าฝ่าย ราชสำนักการพิจารณาพิพากษาคดี
3.กรมคลัง - มี ขุนคลัง เป็นผู้ดูแล มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์ของแผ่นดินที่ได้จากการเก็บส่วยอากร
4.กรมนา - มี ขุนนา เป็นเจ้าหน้าที่ดูแลการทำไร่ นา และสะสมเสบียงอาหารของ พระนคร

2. การปกครองหัวเมือง
อยุธยาเป็นเมืองหลวง เป็นจุดของศูนย์รวมอำนาจการปกครอง ล้อมรอบด้วยเมืองลูกหลวง ประกอบด้วย ทิศเหนือ เมืองลพบุรี ทิศตะวันออก เมือง นครนายก ทิศใต้ เมือง นครเขื่อนขันธ์ และทิศตะวันตก เมือง สุพรรณบุรี ถัดออกมาคือ หัวเมืองชั้นใน ได้แก่ สิงห์บุรี ปราจีนบุรี ชลบุรี และเพชรบุรี และเมืองประเทศราช เช่น เมือง นครศรีธรรมราชและเมืองพิษณุโลก

การปกครองสมัยอยุธยาตอนกลาง
1991 - 2231
การปกครองเริ่มตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นต้นมา หลังจากที่ได้ผนวกเอาอาณาจักรสุโขทัยมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยา โดยมีลักษณะสำคัญ 2 ประการ
1. จัดการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง
2. แยกกิจการฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารออกจากกัน
1.การปกครองส่วนกลาง
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โปรดฯให้มีตำแหน่งสมุหกลาโหมรับผิดชอบด้านการทหาร นอกจากนี้ยังได้ทรงตั้งหน่วยงานเพิ่มขึ้นมา อีก 2 กรม คือ
1.1.กรมมหาดไทย มีพระยาจักรีศรีองครักษ์เป็นสมุหนายก มีฐานะเป็นอัครมหาเสนาบดี มีหน้าที่ควบคุมกิจการพลเรือนทั่วประเทศ
1. 2. กรมกลาโหม มีพระยามหาเสนาเป็นสมุหพระกลาโหม มีฐานะเป็นอัครมหาเสนาบดี มีหน้าที่ควบคุมกิจการทหารทั่วประเทศ นอกจากนี้ใน 4 กรมจตุสดมภ์ที่มีอยู่แล้ว ทรงให้มีการปรับปรุงเสียใหม่ โดยตั้งเสนาบดีขึ้นมาควบคุมและรับผิดชอบในแต่ละกรมคือ
-กรมเมือง (เวียง) มีพระนครบาลเป็นเสนาบดี
-กรมวัง มีพระธรรมาธิกรณ์เป็นเสนาบดี
-กรมคลัง มีพระโกษาธิบดีเป็นเสนาบดี
-กรมนา มีพระเกษตราธิการเป็นเสนาบดี

2.การปกครองส่วนภูมิภาค
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงยกเลิกการปกครองแบบเดิมทั้งหมด แล้วจัดระบบใหม่ดังนี้

1 .) หัวเมืองชั้นใน ยกเลิกเมืองหน้าด่านแล้วเปลี่ยนเป็นเมืองชั้นใน มีฐานะเป็นเมืองจัตวา ผู้ปกครองเมืองเหล่านี้เรียกว่า ผู้รั้ง พระมหากษัตริย์จะเป็นผู้แต่งตั้งขุนนางในกรุงศรีอยุธยา ทำหน้าที่ผู้รั้งเมือง ต้องรับคำสั่งจากในราชธานีไปปฏิบัติเท่านั้นไม่มีอำนาจในการปกครองโดยตรง

2) หัวเมืองชั้นนอก (เมืองพระยามหานคร) เป็นหัวเมืองที่อยู่ภายนอกราชธานีออกไป จัดเป็นหัวเมืองชั้นตรี โท เอก ตามขนาดและความสำคัญของหัวเมืองนั้น เมืองเหล่านี้มีฐานะเดียวกันกับหัวเมืองชั้นใน คือขึ้นอยู่ในการปกครองจากราชธานีเท่านั้น

3) หัวเมืองประเทศราช ยังให้มีการปกครองเหมือนเดิม มีแบบแผนขนบธรรมเนียมเป็นของตนเอง มีเจ้าเมืองเป็นคนในท้องถิ่นนั้น ส่วนกลางจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในด้านการปกครอง แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวาย

การปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งการปกครองเป็นหน่วยย่อย โดยแบ่งเป็น

1) บ้าน หรือหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้าน มีผู้ว่าราชการเมืองเป็นหัวหน้า จากการเลือกตั้งจากหลายบ้าน
2) ตำบล เกิดจากหลายๆ หมู่บ้านรวมกันมีกำนันเป็นหัวหน้ามีบรรดาศักดิ์เป็น พัน
3) แขวง เกิดจากหลายๆ ตำบลรวมกัน มีหมื่นแขวงเป็นผู้ปกครอง
4) เมือง เกิดจากหลายๆ แขวงรวมกัน มีผู้รั้งหรือพระยามหานครเป็นผู้ปกครอง



การปกครองสมัยอยุธยาตอนปลาย

สมัยอยุธยาตอนปลาย เริ่มในสมัยพระเพทราชา สมัยนี้ยึดการปกครองแบบที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ทรงปรับปรุงแต่ได้แบ่งแยกอำนาจสมุหกลาโหมและสมุหนายกเสียใหม่ คือ

1. สมุหกลาโหม - ดูแลหัวเมืองฝ่ายใต้ทั้งหมดทั้งที่เป็นฝ่ายทหารและพลเรือน
2.สมุหนายก - ดูแลหัวเมืองฝ่ายเหนือทั้งหมดที่เป็นฝ่ายทหารและพลเรือนรูปแบบการปกครอง ของอยุธยาใช้เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 5 จึงได้มีการปฏิรูปการปกครองเสียใหม่ ได้แยกกิจการฝ่ายทหารและพลเรือนออกจากกัน แต่การกำหนดอำนาจบังคับบัญชาดูแลกิจการทั้งสองฝ่ายตามเขตพื้นที่ ซึ่งเป็นการถ่วงดุลอำนาจของขุนนางด้วยกัน เพื่อจะได้ไม่เป็นภัยต่อราชบัลลังก์และแบ่งเป็นหัวเมืองฝ่ายต่างๆ ดังนี้

- หัวเมืองฝ่ายเหนือ ขึ้นตรงต่อสมุหนายก
- หัวเมืองฝ่ายใต้ ขึ้นตรงต่อสมุหพระกลาโหม
- หัวเมืองชายทะเลตะวันออก ขึ้นตรงต่อเสนาบดีกรมคลัง

ความสัมพันธ์ต่างๆในสมัยอยุธยา

ความสัมพันธ์กับล้านนา

มีลักษณะเป็นการทำสงครามมากกว่าการเป็นไมตรีต่อกัน สงครามระหว่างอยุธยาและล้านนา ได้เกิดขึ้นหลายครั้งในรัชสมัยพระยาติโลกราชแห่งล้านนากับสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา

ความสัมพันธ์กับล้านช้าง

ไทยกับลาวมีความสัมพันธ์กันมาแต่โบราณ มีลักษณะเป็นมิตรไมตรีที่ดีต่อกัน หลักฐานสำคัญที่แสดงถึงสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างไทยกับลาวก็คือ การร่วมกันสร้างพระธาตุศรีสองรัก ปัจจุบันพระธาตุศรีสองรักอยู่ที่ อ.ด่านซ้าย จ.เลย

ความสัมพันธ์กับพม่า

ไทยกับพม่าส่วนใหญ่เป็นการแข่งอิทธิพลและการขยายอำนาจจึงทำให้เกิดสงคราม กันตลอดเวลาสาเหตุสำคัญมาจากที่พม่าต้องการขยายอำนาจ เข้ามาในอาณาจักรอยุธยาจึงทำให้อยุธยาตกเป็นประเทศราชของพม่าถึง 2 ครั้ง ด้วยกัน นอกจากการทำสงครามแล้วไทยกับพม่าก็ยังมีการติดต่อค้าขายกัน ในบางครั้งการทำสงครามระหว่างไทยกับพม่ามีสาเหตุจากการที่ไทยจับเรือสำเภาของพม่า ที่ไปค้าขายที่เมืองมะริดซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญของไทยจึงทำให้พม่าไม่พอใจ

ความสัมพันธ์กับเขมร

เขมรเคยมีอิทธิพลในดินแดนไทย ทำให้เขมรมีความสัมพันธ์กับไทยในฐานะเมืองประเทศราช ตลอดสมัยอยุธยามีผลทำให้ไทยได้รับอิทธิพลจากเขมรในด้านต่างๆ ได้แก่

1.ด้านการปกครอง ได้รับแนวความคิดที่กษัตริย์ทรงมีฐานะเป็นสมมติเทพจากเขมรเข้ามาด้วย

2.ไทยได้รับขนบธรรมเนียมประเพณีมาจากเขมร เช่น พระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา

3.ด้านประติมากรรม การหล่อพระพุทธรูปยุคอู่ทอง เป็นการหล่อพระพุทธรูปสมัยอยุธยายุคแรกของไทยก็ได้แบบอย่างมาจากเขมร

4.ด้านวรรณคดี ไทยนิยมใช้ภาษาขอมและภาษาบาลีสันสกฤตในวรรณคดีต่างๆ

ความสัมพันธ์กับหัวเมืองมลายู

ในสมัยอยุธยาตอนต้นได้มีการติดต่อกับหัวเมืองต่างๆทางใต้ของไทย หัวเมืองมลายูมีฐานะเป็นประเทศราชของไทยจึงมีหน้าที่ส่งเครื่องราชบรรณการพร้อมกับ ต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายกษัตริย์ไทย 3 ปีต่อครั้ง อยุธยาจะดูแลความสงบเรียบร้อยของหัวเมืองมลายู หากหัวเมืองมลายูได้รับความเดือดร้อน อยุธยามีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือ

ความสัมพันธ์กับญวน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญวนมักจะเป็นเรื่องของการแข่งขันกันมีอิทธิพลในเขมร แต่บางครั้งก็เป็นมิตรไมตรีต่อกัน เมื่อญวนรบกันเองไทยสามารถขยายอิทธิพลและมีอำนาจในเขมรได้อย่างสะดวก แต่เมื่อญวนรวมกำลังกันได้ก็จะขยายอำนาจเข้าไปในเขมร ทำให้เกิดสงครามกับไทยได้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลายๆครั้ง

ความสัมพันธืกับชาติในเอเชีย

ความสัมพันธ์กับจีน

รูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างอยุธยากับจีนเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบรัฐบรรณาการ ในระบบความสัมพันธ์แบบรัฐบรรณาการนั้น จักรพรรดิจีนถือว่าอยุธยา คือประเทศราชของจักรวรรดิจีน แต่สำหรับอยุธยาแล้วถือว่าความสัมพันธ์กับจีนเป็นรูปแบบของการค้า การค้าและการทูตระหว่างจีนกับอยุธยา เป็นผลให้ชาวจีนเข้ามาตั้งรกรากเป็นชุมชนขึ้นที่ กรุงศรีอยุธยาส่วนใหญ่เป็นพวกพ่อค้า มีความรู้ความชำนาญด้านการค้าและการเดินเรือ

ความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น

ช่วงพุทธศตวรรษที่ 20 อยุธยาได้ติดต่อกับริวกิว (ปัจจุบันคือโอกินาวาของญี่ปุ่น) มีการแลกเปลี่ยนคณะทูต ของกำนัลและการค้าได้เข้ามาในรูปของการทูต ช่วงกลางพุทธศตวรรษที่ 22 ญี่ปุ่นกลายเป็นตลาดการค้าที่สำคัญของอยุธยา เรือสำเภาญี่ปุ่นที่จะเดินทางค้าขายจะต้องได้รับใบอนุญาตเรียกว่า ใบเบิกร่องก่อน ปลายพุทธศตวรรษที่ 22 อยุธยากับญี่ปุ่นไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกัน เพราะญี่ปุ่นประกาศปิดประเทศ ห้ามคนญี่ปุ่นออกนอกประเทศ อนุญาตให้เฉพาะฮอลันดาและจีนเท่านั้น แต่การค้าระหว่างอยุธยากับญี่ปุ่นยังคงดำเนินต่อไป

ความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชียตะวันตก

ความสัมพันธ์กับโปรตุเกส

โปรตุเกสเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาติดต่อกับอยุธยา โดยจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ ต้องการผลประโยชน์ทางการค้าและเผยแผ่ศาสนา โปรตุเกสขายปืนและอาวุธสงครามให้แก่อยุธยาเป็นการแลกเปลี่ยนกับสิทธิในการค้า

ความสัมพันธ์กับสเปน

สัมพันธภาพระหว่างไทยกับสเปนไม่ราบรื่นและขาดความต่อเนื่อง เพราะว่าสเปนสนับสนุนให้เขมรเป็นอิสระจากอยุธยา โดยหวังจะใช้เป็นศูนย์กลางการค้าและเป็นแหล่งเผยแผ่ศาสนาคริสต์ จึงบาดหมางกับไทยชาวสเปนไม่ได้ตั้งรกรากในกรุงศรีอยุธยาจึงไม่ได้มีอิทธิพล ทางวัฒนธรรมหลงเหลือให้เห็นเด่นชัด

ความสัมพันธ์กับฮอลันดา

ฮอลันดาเข้ามาติดต่อกับกรุงศรีอยุธยาจุดมุ่งหมายสำคัญของฮอลันดา คือ ความต้องการซื้อสินค้าจากจีนและหาช่องทางเข้าไปค้าขายในจีน โดยอาศัยเรือสำเภาของไทย แต่ไทยยินดีต้อนรับเฉพาะเรื่องที่ชาวฮอลันดาเข้ามาค้าขายเท่านั้น ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 23 การค้าของฮอลันดาที่กรุงศรีอยุธยาค่อยๆลดความสำคัญลง เพราะมีอุปสรรคนานาประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้า ความผันผวนทางการเมือง

ความสัมพันธ์กับอังกฤษ

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอังกฤษซบเซา และหยุดชะงักลงเนื่องจากอังกฤษ พยายามจะยึดเมืองมะริดแต่ถูกขับไล่ออกไป จึงทำให้อยุธยากับอังกฤษประกาศสงครามต่อกัน แม้สงครามจะไม่เกิด แต่ก็ทำให้เหินห่างกันไปและยุติลงอย่างเด็ดขาด

ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศส

ความสัมพันธ์กับฝรั่งเศสเป็นระยะเวลาค่อนข้างสั้น จุดมุ่งหมายหลักของฝรั่งเศสอยู่ที่การติดต่อการค้ากับไทยและพยายามโน้มน้าวคนไทยให้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิก แต่ฝ่ายไทยให้ความสนใจในเรื่องการค้าและความสัมพันธ์ทางการทูตมากกว่า

แบบทดสอบหลังเรียน

จัดทำโดย น.ส.ชุตินันท์ เพชรขุ้ม เลขที่28 ม.4/3

ที่มา

http://project611.exteen.com/20071118/entry-15















































































วันศุกร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ประวัติการปกครองสมัยกรุงสุโขทัย




ประวัติการปกครองสมัยกรุงสุโขทัย



อาณาจักรสุโขทัยเมื่อแรกตั้งเป็นอาณาจักรเล็กๆสมัยที่รุ่งเรืองที่สุดคือสมัยพ่อขุนรามคำแหง มหาราชมีอาณาเขตทิศเหนือจรดเมืองลำพูน ทิศตะวันออกเฉียงเหนือจรดเทือกเขาดงพญาเย็น และภูเขาพนมดงรักทิศตะวันตกจรดเมืองหงศาวดี ทางใต้จรดแหลมมลายู มีกษัตริย์ปกครองเป็นเอกราชติดต่อกันมา 6 พระองค์อาณาจักรสุโขทัย เสื่อมลงและตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาเมื่อสมัยพญาไสลือไทโดยทำสงครามปราชัยแก่ พระบรมราชาที่ 1 แห่งกรุงศรีอยุธยาในปีพ.ศ.1921 และราชวงศ์พระร่วงยังคงปกครองในฐานะประเทศราชติตต่อกันมาอีก 2 พระองค์ จนสิ้นราชวงศ์ พ.ศ.1981
1.การปกครองสมัยสุโขทัยลักษณะการปกครองของสมัยสุโขทัย
ลักษณะการปกครองของสมัยสุโขทัย เป็นการปกครองแบบบิดาปกครองบุตรหรือการปกครองคนในครอบครัว (Paternalism) คือพระมหากษัตริย์เป็นเสมือนพ่อหรือข้าราชการบริพารเปรียบเสมือนลูกหรือคนในครอบครัวทำการปกครองลดหลั่นกันไปตามลำดับ ศาสตราจารย์ James N. Mosel ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปกครองของไทยในสมัยกรุงสุโขทัยไว้ว่ามีลักษณะสำคัญ 2 ประการคือ

1.1 มีลักษณะเป็นการปกครองแบบพ่อปกครองลูกกับการดำเนินการปกครองแบบหัวเมืองขึ้น

1.2 มีลักษณะคล้ายเจ้าผู้ครองนครกับยังได้ย้ำว่า การปกครองแบบหัวเมือง หรือเจ้าผู้ครองของไทย แตกต่างกับระบบเจ้าผู้ครองนครของยุโรป

อย่างไรก็ดี สำหรับการปกครองแบบบิดากับบุตรนี้ในปาฐกถาของ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เรื่องลักษณะการปกครองประเทศสยามแต่โบราณได้อธิบายไว้ว่าวิธีการปกครองในสมัยสุโขทัยนั้นนับถือพระเจ้าแผ่นดินอย่างบิดาของประชาชนทั้งปวงวิธีการปกครองเอาลักษณะการปกครองสกุลมาเป็นคติ เป็นต้น บิดาปกครองครัวเรือนหลายครัวเรือนรวมกันเป็นบ้านอยู่ในปกครองของพ่อบ้าน ผู้อยู่ในปกครอง เรียกว่า ลูกบ้าน หลายบ้านรวมกันเป็นเมืองถ้าเป็นเมืองขึ้นอยู่ในความปกครองของพ่อเมือง ถ้าเป็นประเทศราชเจ้าเมืองเป็นขุนหลายเมืองรวมกันเป็นประเทศที่อยู่ในความปกครองของพ่อขุน ข้าราชการในตำแหน่งต่างๆ เรียกว่าลูกขุน วิธีการปกครองของไทยเป็นอย่างบิดาปกครองบุตรยังใช้หลักในการปกครองประเทศไทยมาจนเปลี่ยนแปลงการปกครอง คำว่าปกครองแบบพ่อปกครองลูกนี้มีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อจิตใจของคนไทยเป็นอย่างยิ่งพระเจ้าแผ่นดินสมัยสุโขทัยตอนต้น ประชาชนมักใช้คำแทนตัวท่านว่าพ่อขุนจนเมื่ออิทธิพลของขอมเข้ามาแทรกแซงก็ได้เปลี่ยนไปใช้คำว่าพระยาเสียทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับกษัตริย์ ซึ่งเดิมเปรียบเสมือนพ่อกับลูกได้กลายสภาพเป็นข้ากับเจ้าบ่าวกับนายไป
การปกครองระบบบิดากับบุตรนี้พระมหากษัตริย์ในฐานะบิดาทรงมีพระราชอำนาจเด็ดขาดถ้าได้พิจารณาถ่องแท้แล้วก็จะเห็นว่าถ้าผู้ปกครองประเทศคือพระมหากษัตริย์ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมให้ความร่มเย็นเป็นสุขแก่ราษฎรเสมือนหนึ่งบุตรประชาชนก็ย่อมจะได้รับความผาสุกแต่ถ้าการปกครองดังกล่าวมีลักษณะเป็นข้ากับเจ้าบ่าวกับนายสวัสดิภาพของประชาชนในสมัยนั้นก็น่าจะไม่มีความหมายอะไร อย่างไรก็ดีการที่จะใช้ระบบการปกครองอย่างใดจึงเหมาะสมนั้นนอกจากขึ้นอยู่กับภาวะการณ์ต่างๆในแต่ละสมัยแล้วการเลือกใช้วิธีการปกครองระบบบิดากับบุตรในสมัยนั้นน่าจะถือเอาการปกครองประเทศเป็นนโยบายสำคัญ
การปกครองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ความสำเร็จบรรลุอุดมการณ์ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงหลายประการ ตราบใดที่ประชาชนในยุคประชาธิปไตยยังรำลึกว่าตนอยู่ในฐานะบุตรที่ผู้ปกครองในฐานะบิดาจะต้องโอบอุ้มตลอดไปบุตรคือประชาชนก็จะขาดความรับผิดชอบละขาดความสำนึกในทางการเมืองที่จะปลูกฝังและเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยได้เช่นกัน หากผู้ปกครองต้องอยู่ในฐานะบิดาที่คอยโอบอุ้มและกำหนดความต้องการของประชาชนในฐานะบุตรแล้ว ความเป็นประชาธิปไตยที่จะให้บรรลุอุดมการณ์แท้จริงก็เป็นสิ่งที่หวังได้โดยยาก

2.ชนชั้นสังคมสมัยสุโขทัย

สังคมสุโขทัยประกอบด้วยชนชั้นต่าง ๆ ดังนี้
2.1 ชนชั้นผู้ปกครอง

2.1.1 พระมหากษัตริย์ เป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในราชอาณาจักร กษัตริย์จะมีหน้าที่ปกครองอาณาจักรให้มีความมั่นคงเป็นปึกแผ่น รวมไปถึงการดูแลราษฎรให้ทำมาหากินและดำรงชีวิตอย่างปกติสุข

2.1.2 เจ้านายหรือขุนนาง เป็นกลุ่มพระราชวงศ์และข้าราชการที่มีหน้าที่ช่วยเหลือพระมหากษัตริย์ในการปกครองบ้านเมือง
2.2 ชนชั้นผู้ถูกปกครอง

2.2.1 ไพร่ ประชาชน เป็นชนชั้นกลุ่มใหญ่ของสังคม ในยามที่บ้านเมืองสงบ มีหน้าที่ประกอบอาชีพเลี้ยงดูครอบครัว และช่วยทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม แต่ในยามศึกสงคราม ชายฉกรรจ์จะมีหน้าที่รับใช้ชาติบ้านเมือง

2.2.2 พระสงฆ์ เป็นกลุ่มนักบวช มีหน้าที่สั่งสอนหลักธรรมให้แก่ประชาชนและเป็นผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนา

3.ลักษณะทางเศรษฐกิจ
อาณาจักรสุโขทัยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจอยู่ที่การเกษตรเป็นหลัก โดยมีการค้าและการทำเครื่องสังคโลกเป็นส่วนประกอบสำคัญ จากหลักฐานต่างๆ เท่าที่ได้ค้นพบและศึกษาค้นคว้ากันมาเศรษฐกิจของอาณาจักรสุโขทัยน่าจะมีเพียงแค่พอกินพอใช้ในอาณาจักรเท่านั้น มิได้มีความมั่งคั่งอุดมสมบูรณ์มากเท่ากับอาณาจักรอยุธยา ทั้งนี้เพราะสภาพภูมิศาสตร์และทำเลที่ตั้งของอาณาจักรสุโขทัยไม่เอื้อต่อการเพาะปลูกและการเป็นศูนย์การค้ามากเท่ากับอาณาจักรอยุธยาซึ่งมีอาณาบริเวณอยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง สภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่อุดมสมบูรณ์มากนี้เป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้อาณาจักรสุโขทัยไม่สามารถมีอำนาจทางการเมืองอยู่ได้เป็นเวลานาน

4.สังคมการเกษตร
การเกษตรอาณาจักรสุโขทัยมีสภาพพื้นที่ราบที่ใช้ในการเพาะปลูกแบ่งอย่างกว้างๆ ได้เป็น2 ลักษณะคือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำและที่ราบเชิงเขาบริเวณที่ราบลุ่มที่สำคัญ คือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำยมและแม่น้ำ ซึ่งมีอาณาบริเวณตั้งแต่อุตรดิตถ์ ศรีสัชนาลัย สุโขทัย เรื่อยลงมาจนถึงนครสวรรค์พื้นที่แถบนี้มีลักษระเป็นที่ราบลุ่มกว้างใหญ่และเนื่องจากลำน้ำยมและลำน้ำน่านมีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลบ่ามาจากภูเขาทางภาคเหนือทำให้การระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างไม่ทันยังผลให้มีน้ำท่วมที่ราบลุ่มแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านนี้ ซึ่งบริเวณนี้ควรจะทำการเพาะปลูกได้ดีนี้กลับได้ผลไม่ดีเท่าที่ควรและทางทิศตะวันตกของเมืองสุโขทัยเรื่อยมาจนถึงเมืองกำแพงเพชรเป็นพื้นที่ดอน ดินไม่ใคร่อุดมสมบูรณ์ จึงทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผลดีนักจากสภาพภูมิศาสตร์ดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกษตรในอาณาจักรสุโขทัยต้องใช้ระบบชลประทานเข้ามาช่วยด้วยจุดประสงค์ 2 ประการ คือ เพื่อควบคุมน้ำที่ไหลบ่ามาจากบริเวณภูเขา และน้ำที่ล้นมาตามลำน้ำต่างๆให้ไหลไปตามแนวทางควบคุมบังคับที่ทำไว้หรือมิฉะนั้นก็เพื่อเก็บกักน้ำไว้ภายในหุบเขาแล้วขุดคลองระบายน้ำเข้าไปในพื้นที่ที่ทำการเพาะปลูกเขื่อนเก็บกักน้ำที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ทางชลประทานในสมัยสุโขทัยคือเขื่อนสรีดภงด์ หรือทำนบพระร่วงเป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่สร้างอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของตัวเมืองสุโขทัย นอกจากทำนบเก็บกักน้ำแล้วยังมีการสร้างเหมืองฝายและขุดคูคลองส่งน้ำเป็นแนวยาวตั้งแต่ศรีสัชนาลัยผ่านสุโขทัยออกไปถึงกำแพงเพชรด้วยระบบชลประทานดังกล่าวข้างต้นทำให้ผืนดินโดยรอบเมืองสุโขทัยพื้นที่ระหว่าง ศรีสัชนาลัย สุโขทัย และกำแพงเพชร เป็นผืนดินอันกว้างใหญ่ที่ใช้ทำการเพาะปลูกได้

5.ความสัมพันธ์กับต่างชาติ

5.1 จักรวรรดิมองโกล
กองทัพ
จักรวรรดิมองโกลแผ่แสนยานุภาพโดดเด่นที่สุดเป็นช่วงเดียวกับการตั้งกรุงสุโขทัย ในปี พ.ศ. 1800 (ค.ศ. 1257) ซึ่งเป็นอาณาจักรของตนอย่างแท้จริงเป็นครั้งแรก หลักฐานสำคัญในพงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 2 แปลเรื่องราวการติดต่อระหว่างอาณาจักรสุโขทัยกับราชวงศ์มองโกลได้สรุปไว้ว่ากุบไลข่านทรงปรึกษาขุนนางข้าราชการระดับสูงเกี่ยวกับการเตรียมทัพไปปราบปรามแคว้นต่างๆ ทางใต้ มีสุโขทัย ละโว้ สุมาตรา และอื่นๆ เป็นเมืองขึ้น ปรากฏว่าขุนนางชื่อ เจี่ย หลู่ น่ าต๋าไม่เห็นด้วยและได้กราบบังคมทูลเสนอแนะให้ทรงชักชวนให้ผู้นำดินแดนต่างๆ อ่อนน้อมยอมสนับสนุนก่อน หากไม่ยอมจึงยกกองทัพไปโจมตี นี่คือเหตุผลประการหนึ่งที่กุบไลข่านทรงส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี และขอให้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปยังราชสำนักมองโกล เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่ออาณาจักรมองโกล ปรากฏว่ามีอาณาจักรในดินแดนต่างๆ กว่า 20 อาณาจักรยอมรับข้อเสนอ รวมทั้งอาณาจักรสุโขทัยด้วย (ช่วงระหว่างประมาณ พ.ศ. 1822 - 1825) พงศาวดารหงวนฉบับเก่า เล่มที่ 12 เป็นหลักฐานสำคัญที่กล่าวถึงคณะทูตชุดแรกจากอาณาจักรมองโกลในสมัยกุบไลข่าน เดินทางมายังอาณาจักรสุโขทัยในเดือนพฤศจิกายนปี พ.ศ. 1825 (ค.ศ. 1282) ทูตคณะนี้นำโดยเหอจี จี่ นายทหารระดับสูงเป็นหัวหน้าคณะ แต่ขณะนังเรือแล่นผ่านฝั่งทะเลอาณาจักรจามปา ได้ถูกจับกุมและถูกประหารชีวิต ผลจากคณะทูตนี้ถูกประหารชีวิตก่อนจะเดินทางไปยังอาณาจักรสุโขทัยทำให้อาณาจักรสุโขทัยไม่ทราบว่ามองโกลพยายามส่งทูตมาติดต่อ
5.2 อาณาจักรล้านนา
ในปี พ.ศ. 1839
พญามังราย (พ.ศ. 1804 - 1854) ได้มีคำสั่งให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นมาโดยใช้ชื่อว่า นภบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่ (เชียงใหม่) เพื่อที่จะเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ของอาณาจักรล้านนา ครั้งนั้นพ่อขุนรามคำแหงมหาราชและ พญางำเมือง ได้เสด็จมาช่วยด้วย
5.3 อาณาจักรอยุธยา
หลังจากมีการก่อตั้งกรุงศรีอยุธยา แรกนั้นสุโขทัยและอยุธยาไม่ได้เป็นไมตรีต่อกัน แต่ด้วยชัยภูมิที่เหมาะสมกว่า ทำให้อยุธยาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ประกอบกับปัญหาการเมืองภายในของสุโขทัยมิได้เป็นไปโดยสงบ มีการแย่งชิงราชสมบัติกันระหว่าง พระยาบาลเมือง พระยาราม ยังผลให้อยุธยาสบโอกาสเข้าแทรกแซงกิจการภายใน ในรัชกาลนี้มีการรับไมตรีจากอยุธยาโดยการสมรสระหว่าง
ราชวงศ์พระร่วง กับราชวงศ์สุพรรณภูมิ โดยมีพระราเมศวร ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นราชบุตรจากสองราชวงศ์




5.4ลังกา
สุโขทัยมีความสัมพันธ์กับลังกาทางพระพุทธศาสนานิกายเถรวาทลัทธิลังกาวงศ์โดยรับมาจากนครศรีธรรมราชอีกที นอกจากนี้ สุโขทัยก็ยังมีความสัมพันธ์กับลังกาโดยตรง ในสมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (ลิไทย) ได้มีพระภิกษุสงฆ์ที่เป็นเชื้อสายราชวงศ์พระร่วงได้เดินทางไปศึกษาพระไตรปิฎกที่ลังกาอีกด้วย




5.5หัวเมืองมอญ
สุโขทัยมีความสัมพันธ์กับจีนในลักษณะการค้าในระบบบรรณาการ คือ สุโขทัยจะต้องส่งทูตพร้อมเครื่องบรรณาการไปถวายจักรพรรดิจีน เพื่อแสดงความอ่อนน้อมต่อจีน และเมื่อเดินทางกลับ จีนก็ได้จัดมอบสิ่งของให้คณะทูตนำกลับมายังสุโขทัยด้วย และทำให้ได้รับวีธีการทำเครื่องปั้นดินเผาจากช่างจีนด้วย






แบบทดสอบหลังเรียน




ที่มา




http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%




E0%B8%93%E0%B8%B2%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%




B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%B8%E0%




B9%82%E0%B8%82%E0%B8%97%E0%B8%B1%E0%B8%A2#.E0.B8.84.E0.B8.A7.E0.B8.B2.E0.B8.A1.E0.B8.AA.E0.




B8.B1.E0.B8.A1.E0.B8.9E.E0.B8.B1.E0.B8.99.E0.B8.98.E0.B9.8C.




E0.B8.81.E0.B8.B1.E0.B8.9A.E0.B8.95.E0.B9.88.E0.B8.B2.E0.B8.8




7.E0.B8.8A.E0.B8.B2.E0.B8.95.E0.B8.B4


จัดทำโดย น.ส. ชุตินันท์ เพชรขุ้ม เลขที่ 28 ม.4/3